fbpx
midlife crisis คือ

Midlife Crisis คือ อะไร? ทำไมวัยกลางคนถึงรู้สึกแย่กับตัวเอง

วันดีคืนดี คุณก็เริ่มหมดไฟ เริ่มรู้สึกท้อแท้กับชีวิต ทำไมทำงานมานานแต่ยังรู้สึกเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ ชีวิตการงาน ครอบครัวดูไม่เป็นไปอย่างที่วาดฝัน คิดเปรียบเทียบกับคนอื่นวนไปมา ถ้าคุณพบว่าอยู่ในช่วงวัยที่อายุเข้าสู่หลักสี่ อาการที่ว่านี้ อาจจะเป็นอาการ “วิกฤติวัยกลางคน” แล้ว Midlife Crisis คือ อะไร

Midlife Crisis คือ ?

วิกฤติวัยกลางคน – Midlife Crisis คือ ภาวะทางสุขภาพจิตของวัยกลางคนช่วงตั้งแต่ อายุ 45-65 ปี (บางนิยามให้อยู่ในช่วง 35-50 ปี)  สามารถเกิดได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยส่วนมากอาจเริ่มจากการคิดทบทวนชีวิตตัวเอง รู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มคิดว่าชีวิตตัวเองไม่เห็นมีอะไรที่ควรจะต้องมี และต้องการหาความสุขจากสิ่งที่ตัวเองรู้สึกขาด บวกกับความเสื่อมถอยของสภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าในภายหลัง

สาเหตุที่ทำให้เกิด Midlife Crisis 

ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย 

พออายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บ ความเสื่อมถอยของร่างกายก็ติดตามมา เริ่มมีอาการปวดนั่น ปวดนี่มากขึ้น ขยับทีดังกร๊อบแกร็บ สมรรถภาพร่างกายเริ่มลดลง เจ็บป่วยง่าย ทำให้เปรียบเทียบกับสมัยหนุ่ม ๆ สาว ๆ เริ่มเห็นว่าตัวเองถึงวัยที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว 

ฮอร์โมนเปลี่ยน 

โดยในผู้หญิงจะเห็นได้ชัดเจนกว่าผู้ชาย ผู้หญิงหลายคนในวันนี้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน ทำให้มีอาการของคนที่กำลังจะเข้าวัยทอง (perimenopausal syndrome) มีความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศลดลง อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการทำงานช้าลง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย และเบื่อหน่ายตนเอง

ชีวิตคู่ไม่ราบรื่น

หากใช้ชีวิตคู่กันมายาวนาน อาจจะเกิดปัญหาความสัมพันธ์กันได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากต้องเลิกกัน หย่าร้าง หรือ ไม่ประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ในช่วงวัยนี้ ก็เป็นสาเหตุให้เผชิญกับวิกฤติวัยกลางคนได้

ลูกๆ เริ่มโตขึ้น

เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่อาจสนิทสนมกับลูกมาก พอลูก ๆ เริ่มโต เริ่มไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่เหมือนเดิม อาจทำให้รู้สึกคุณค่าในตัวเองลดลง กลัวการไม่ได้รับความรักเหมือนเดิมจากลูก ๆ 

หน้าที่การงานไม่เปลี่ยนแปลง

บางคนไม่ได้เลือกเส้นทางอาชีพที่อยากทำ หรือ ทำงานมานาน ถึงวัยที่ควรประสบความสำเร็จ ได้โปรโมท แต่ก็ยังอยู่ตำแหน่งเดิม มองไม่เห็น Career Path ตัวเอง เหมือนทางจะตัน หากติดอยู่กับงานเดิมนาน ๆ รุ่นน้อง เพื่อน ๆ ทำไมก้าวหน้ากันไปแล้ว อาจทำให้คิดวนเวียน เปรียบเทียบ ท้อแท้ จนต้องเผชิญกับ Midlife Crisis 

ความกดดันจากสังคม

ในสังคมที่คาดหวังในตัวเราให้ใช้ชีวิตตามบรรทัดฐานสังคม เมื่อถึงวัยที่คาดหวังให้เราประสบความสำเร็จ มีชีวิตคู่แต่งงาน มีหน้าที่การงานดี เมื่อเราไม่ได้เป็นไปตามที่ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนรอบข้างคาดหวัง หลายคนก็ประสบกับ Midlife Crisis ได้ เพราะรู้สึกกดดันตัวเอง รู้สึกผิดหวังท้อแท้กับตัวเอง 

การสูญเสียคนใกล้ชิด 

พออายุมากขึ้น ก็ต้องไปงานศพมากตามไปด้วย โดยเฉพาะหากเป็นการสูญเสียคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือเพื่อนฝูง 

“ความตาย” ที่ใกล้ตัว อาจทำให้เริ่มมองย้อนสำรวจตัวเองมากขึ้น ว่าตัวเราเองได้ทำสิ่งที่อยากทำหรือยัง ประสบความสำเร็จในชีวิตแค่ไหน

midlife crisis คือ

สัญญาณว่าคุณกำลังเข้าสู่ “วิกฤตวัยกลางคน”

  • เหนื่อย ท้อแท้ คิดวนเวียนกับชีวิตที่เป็นอยู่ ทั้งที่เคยมีความสุขมาหลายปี
  • เบื่อหน่าย กับ ผู้คน สิ่งของ ที่แต่ก่อนอาจเคยชอบ
  • เปรียบเทียบความสำเร็จของตัวเองกับคนรอบตัว
  • ต้องการการเปลี่ยนแปลงในชีวิต อยากออกไปผจญภัย
  • เริ่มตั้งคำถามว่าเส้นทางที่เลือกใช้ชีวิตมาตลอด ถูกต้องหรือเปล่า
  • สับสนในตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร และ กำลังจะไปทางไหน
  • ตัดสินใจหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจเรื่องสำคัญด้วยอารมณ์
  • มีปัญหากับคู่ชีวิต รู้สึกว่าคิดถูกมั้ยที่แต่งงาน 
  • ตัดสินใจไม่ได้ว่าเป้าหมายในชีวิตต่อไปจะทางไหน 
  • อยากกลับไปเป็นวัยหนุ่มสาว หาคนรักใหม่ อยากมีความสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ 
  • กังวลกับรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น เพราะนึกถึงช่วงวัยหนุ่มสาว
  • คิดมากจนนอนไม่ค่อยหลับ กินไม่ค่อยได้
  • น้ำหนักขึ้น หรือลงผิดปกติ

อาการ Midlife Crisis แบบนี้ เริ่มอันตราย!

วิกฤติวัยกลางคน ไม่ได้เลวร้าย หากคุณเปลี่ยนมาเป็นพลังบวก เป็นแรงผลักดันในการสิ่งที่ค้างคาในชีวิต เป็นช่วงที่ได้สำรวจตรวจสอบตัวเองอย่างแท้จริง หลายคนอาจจะฮึด! เปลี่ยนแปลงตัวเองได้หลังจากตกผลึก 

แต่หลายคนที่ยังไม่ก้าวข้ามวิกฤติไปได้ และอาการเริ่มรุนแรง ส่งผลกับร่างกาย อาจจะถึงเวลาที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือ นักจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือ 

สัญญาณเหล่านี้ บอกว่าควรไปพบแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือ หาคนช่วย 

  • คิดมากจนนอนไม่หลับ กินอาหารไม่ลง กินข้าวไม่อร่อย 
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่อยากไปทำงาน ลาป่วยการเมือง
  • เครียดจนส่งผลต่อความสัมพันธ์ เช่น ทะเลาะกับคู่รัก ทะเลาะกับพ่อแม่ พี่น้อง
  • ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร หมดความสนใจในกิจกรรมยามว่าง งานอดิเรก
  • คิดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ในชีวิต เช่น ลาออก หย่าร้าง ย้ายบ้านถิ่นฐานที่อยู่ 

Midlife Crisis มีจริงหรือไม่?

อาจจะไม่จำเป็นว่าทุกคนเมื่ออายุถึงช่วงวัยกลางคน แล้วจะต้องประสบกับภาวะ Midlife Crisis เพราะจากการศึกษาก็พบว่าประชากรในบางส่วนของโลกนี้ ก็ไม่เคยเจอกับปัญหานี้เลย

อันที่จริง นักวิจัยบางคนเชื่อว่าแนวคิด เรื่อง Midlife Crisis เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม ที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่าคุณควรจะประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน มีบ้าน มีรถ ครอบครัว ซึ่งพอไม่เป็นไปตามความคาดหวังในสังคมก็ทำให้รู้สึกล้มเหลว 

ในการสำรวจประชากรวัยกลางคนในสหรัฐอเมริกา เพื่อหาจำนวนที่แน่นอนของคนที่ประสบวิกฤตวัยกลางคน จากผู้เข้าร่วมสำรวจทั้ง พบว่า ประมาณ 26% บอกว่าตัวเองประสบกับ Midlife Crisis 

ผู้เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่ บอกว่า วิกฤตวัยกลางคน เกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปีหรือหลัง 50 ปี ทำให้เกิดคำถามว่า วิกฤตเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอายุหรือไม่ 

midlife crisis คือ

Midlife Crisis ไม่ได้จำกัดที่อายุ?

1 ใน 4 ของประชากรที่สำรวจ กล่าวว่าตัวเองเคยประสบวิกฤตวัยกลางคน ส่วนใหญ่กล่าวว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤตมักเกิดจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต มากกว่าอายุ  เช่น การหย่าร้าง ตกงาน โดนไล่ออก สูญเสียคนที่คุณรัก หรือการย้ายถิ่นฐาน

การป้องกันตัวเองจากภาวะวิกฤตวัยกลางคน

พยายามแยกแยะอารมณ์ชั่ววูบกับความต้องการของตัวเองจริง ๆ

อย่าปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบของตัวเองเป็นใหญ่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งคุณอาจจะรู้สึกว่าตัวเองอยากลาออกจากงาน อยากหลบหนีความน่าเบื่อในครอบครัวไปเจออะไรใหม่ ๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่สติไม่ได้อยู่กับเราหรือเปล่า

คิดบวกเข้าไว้

จงขอบคุณตัวเองที่ทำให้ชีวิตเดินมาถึงจุดนี้ ขอบคุณครอบครัวที่อยู่เคียงข้างกัน และขอบคุณทุก ๆ อย่างรอบตัวแม้จะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของความคิดในแง่บวกที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะวิกฤตวัยกลางคน

เมื่อมีปัญหา ปรึกษาคนใกล้ตัว

พยายามอย่าคิดอะไรด้วยตัวเองคนเดียว มีปัญหาหรือรู้สึกแย่เมื่อไรให้แชร์ความหนักอกหนักใจนั้นกับคนรอบข้างโดยด่วน เชื่อเถอะว่าการระบายออกไปมันช่วยให้รู้สึกโล่งขึ้นเยอะ

ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์

รู้สึกเบื่อจะแย่แล้วกับชีวิตก็ลองกลับไปเยี่ยมโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเคยเรียนดูบ้าง นัดเจอเพื่อนเก่า ๆ ที่ไม่ได้เจอหน้ากันนาน หรืออยากได้ความท้าทายก็ลองลงทุนทำธุรกิจที่ตัวเองคิดว่าถนัดและน่าจะเหมาะดูสิ

อย่าเหวี่ยงวีนใส่คนรอบข้าง

เข้าใจว่าหลาย ๆ ปัจจัยอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด แต่พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนในบ้านและคนที่คุณรักจะดีกว่า เพราะหากทำอะไรตามอารมณ์ตัวเองโดยไม่ยั้งคิด อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีอารมณ์ก็แจ่มใสไปด้วยได้ง่าย ๆ ฉะนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองให้ยังฟิตปั๋งเหมือนวัยหนุ่มสาวด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ

พักผ่อนให้เพียงพอ

นอนไม่พออาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นหากไม่อยากรู้สึกแย่ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อีกทั้งการนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายยังช่วยชะลอริ้วรอยแห่งวัยได้อีกด้วยนะ

Midlife Crisis อาจเกิดจากการได้ไตร่ตรองสำรวจตัวเอง เป็นช่วงเวลาแห่งการไตร่ตรอง สำรวจตัวเองครั้งใหญ่ พอมองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และตั้งคำถามว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเลือกเส้นทางที่ต่างออกไปจากตอนนี้ 

การได้สำรวจตัวเอง ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี หากเรารู้ตัวว่าเราต้องการอะไร เป้าหมายในชีวิตที่หลงลืมไป จะจัดการอย่างไรต่อไป ใช้ให้เป็นแรงกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้

 

Ref: (1) (2) (3) (4) (5)