จากการสำรวจจากมหาวิทยาลัย Brigham Young พบว่านักศึกษาประมาณ 20% ประสบกับ โรคคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ หรือ Impostor Syndrome ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่คิด ซึ่งการที่พบเจอโรคนี้ในเด็ก ๆ พ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของลูก
Imposter Syndrome คืออะไร สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่ > รู้จักอาการ Imposter Syndrome
การเลี้ยงลูกที่สร้าง Imposter Syndrome โรคคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ กับเด็ก
– พ่อแม่ที่ชื่นชมแต่ “ผลลัพธ์”
การชื่นชมลูกเป็นเรื่องดี แต่การชมเชยลูกก็ต้องมีวิธีการชมอย่างเหมาะสมด้วย พ่อแม่หลายคนคิดว่าการชื่นชมผลลัพธ์ เช่น ชมที่ลูกสอบได้ที่ 1 สอบได้คะแนนดี แข่งกีฬาชนะ ยึดติดเพียงแค่ ‘ผลลัพธ์อันเป็นเลิศ’ เท่านั้น สิ่งเหล่านี้กำลังสอนลูกว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังให้ค่ากับ “ความสำเร็จ” เป็นที่ตั้ง โดยลูกจะค่อย ๆ ยึดติดกับ “ค่า” ที่พ่อแม่ให้ไว้คาดหวังไว้โดยไม่รู้ตัว ลูกจะเริ่มยึดติดกับความสำเร็จ ความเป็นที่หนึ่ง แพ้ไม่เป็น ผิดหวังไม่ได้ จนวันหนึ่งถ้าเกิดแพ้ พลาดไม่เป็นดังหวัง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่ดีพอ ไม่เก่งในสายตาพ่อแม่ จนอาจกลายเป็น โรคคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ในอนาคตได้
– พ่อแม่ที่ชมไปเรื่อย ชมเกินจริง
การชมที่เกินจริงแบบเหมารวมอย่าง “เก่งที่สุด” “ดีที่สุด” “หล่อที่สุด” “สวยที่สุด” “น่ารักที่สุด” แม้จะเป็นคำชมที่ผู้ฟังรู้สึกดีก็ตาม พ่อแม่ชมแบบนี้ ลูกก็รู้สึกดี เป็นเรื่องธรรมดา แต่หากพูดซ้ำ ๆ จนวันหนึ่งเขาต้องไปเผชิญกับความจริงกับเพื่อน ๆ หรือ ไปแข่งขันกับคนอื่น อาจทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นของปลอม ตัวเองไม่ได้เก่งจริงอย่างที่คนในครอบครัวชื่นชม
– พ่อแม่ที่ไม่เคยชื่นชมลูกเลย
ในทางกลับกัน พ่อแม่บางคนก็ถือคติโบราณ “อย่าชมมาก เดี๋ยวเหลิง …. ” จนทำให้แทบไม่เคยชื่นชมลูก ๆ เลย
หากลูกไม่เคยได้รับคำชมใด ๆ เลยจากพ่อแม่ อาจทำให้เขาซึมซับ และคิดไปว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอเพราะไม่เคยได้รับคำชมเลย
ทุกคนตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ต่างต้องการคำชมเพื่อรักษาความภาคภูมิใจในตนเอง และรักษาความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองไว้ สำหรับเด็ก ความต้องการความสนใจในเชิงบวกเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หากเด็ก ๆ ไม่ได้รับการสนองความต้องการดังกล่าว มันอาจทำให้ความนับถือตนเองของเขาลดลง ความรู้สึกนี้จะยังอยู่ แม้กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
– พ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบลูก ไม่ว่าจะกับใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น กับพี่น้อง กับตัวพ่อแม่เอง หรือ แม้แต่เปรียบเทียบกับตัวของลูกในอดีต เช่น “ลูกเคยดีกว่านี้” “สมัยก่อน รู้ไหม เราเคยเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่านี้ ทำตัวดีกว่านี้นะ ลูกคนนั้นของแม่หายไปไหนแล้ว” “ไม่เห็นน่ารักเหมือนน้องคนนั้นเลย” “ดูสิ ลูกคนอื่นเขายังทำได้เลย”
การที่พ่อแม่ใช้คำพูดเปรียบเทียบ อาจเพราะหวังดี อยากผลักดันให้ลูกเกิดความพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น หรือเพื่อให้ลูกพัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่คำพูดเหล่านี้กลับทำร้ายจิตใจ และทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีความสามารถ ไม่เก่ง หรือไม่ดีพอ กลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจ บางคนก็อาจแสดงออกด้วยความก้าวร้าว รุนแรง และพยายามทำตัวเองให้อยู่ด้านตรงกันข้ามกับที่พ่อแม่คาดหวัง
– พ่อแม่ตั้งความคาดหวังเกินความสามารถลูก
ความสามารถ คือสิ่งที่เราลงมือทำได้สำเร็จ หรือมีความเชี่ยวชาญ เช่น ความสามารถด้านภาษา ความสามารถด้านดนตรี ความสามารถด้านกีฬา เป็นต้น ซึ่งเด็กแต่ละคนต่างก็มีความสามารถในแต่ละด้านแตกต่างกันไป และแน่นอนไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่เข้าใจถึงความแตกต่างตรงนี้ และมักจะมีความคาดหวังที่ไม่ตรง
กับความสามารถของลูก หรือเกินกว่าความสามารถที่ลูกมี เช่น ลูกเล่นเซิร์ฟบอร์ดได้ก็คาดหวังให้ลูกไปเล่นกีฬาคล้าย ๆ กันที่สามารถไปแข่งระดับโลกได้ ทั้ง ๆ ที่ลูกเล่นเพื่อนคลายเครียด เป็นต้น
หยุดสร้าง Imposter Syndrome ให้กับลูก
ปรับความคาดหวังให้เหมาะกับความสามารถของลูก
การตั้งความหวังที่สูงเกินไปของพ่อแม่ จะทำให้ลูกเครียด กดดัน แต่การไม่คาดหวังอะไรกับตัวลูกเลยก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะจะทำให้ลูกขาดความพยายาม ขาดระเบียบวินัย ขาดความรู้สึกที่จะรับผิดชอบต่อตนเอง
ดังนั้น การปรับความคาดหวังของพ่อแม่ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูก โดยไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป จะเป็นผลดีกับทั้งพ่อแม่และลูก
ชื่นชมต่อความพยายามมากกว่าผลลัพธ์
คำชมเป็นแรงจูงใจที่ดี หากต้องการสร้างแรงจูงใจให้กับลูก เริ่มต้นโดยการสร้างจุดสนใจเกี่ยวกับความพยายามของลูก อย่าพูดชมแค่ผ่าน ๆ เท่านั้น ให้ใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งนั้นเข้าไปด้วย ให้เราชมรูปที่ลูกวาด ชมความพยายามในการวาดรูป เพราะการชมที่เฉพาะเจาะจงจะสร้างกำลังใจให้ลูกมากกว่าผลลัพธ์ และไม่เปรียบเทียบกับผลงานของลูกกับคนอื่น
สังเกตอาการ Imposter Syndrome ของตัวพ่อแม่เอง
พ่อแม่ที่มีแนวโน้มว่าตัวเองมีอาการ Imposter Syndrome ก็มีโอกาสที่จะส่งต่ออาการเหล่านี้ไปถึงลูก ๆ ผ่านการเลี้ยงดูโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นพ่อแม่ต้องตระหนัก และคอยสังเกตตัวเองว่ามีลักษณะ Imposter Syndrome อยู่หรือเปล่า เพื่อจะได้แก้ไขตัวเองได้ก่อนจะสายเกินไป
อ้างอิง : (1) (2) (3) (4) (5) (6)