ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใคร ๆ ก็อยากเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ชื่นชอบ แต่ถ้าต้องคอยคิดถึงแต่คนอื่น ตามใจคนอื่น People Pleaser ฝืนใจตัวเองบ่อย ๆ นั้นมีผลเสียต่อตัวเรา จนอาจเป็นจุดเริ่มของ “โรคซึมเศร้า” ได้ แต่เชื่อไหมว่า…บางคนก็แทบไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำร้ายตัวเอง (Self-Sabotage) เพราะตามใจคนอื่นจนละเลยความรู้สึกและตัวตนที่แท้จริงของตัวเองจนชินมานานแล้ว
People-Pleaser คืออะไร
นักจิตวิทยาเตือนว่า ความที่ต้องการเอาใจทุกคน (People-Pleasing) จนกลายเป็นคน ‘อะไรก็ได้’ จริง ๆ แล้วเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของคนๆ นั้น ตามทฤษฎีของมาสโลว์แล้ว เราต่างปรารถนาจะเป็นที่รัก ที่ชื่นชม และที่ยอมรับของคนอื่นๆ แต่สำหรับคนที่มีอาการ ‘อะไรก็ได้’ ความปรารถนานั้นจะถูกขับดันด้วยระบบประสาท (Neurotic Need & Desire) จนบั่นทอนสุขภาพ ความคิด บุคลิกภาพ และส่งผลเสียเรื้อรังจนกลายเป็นความเครียด ความทุกข์ และโรคซึมเศร้า ได้
นักจิตวิทยาแจกแจงบุคลิกภาพของคนที่เป็นคน ตามใจคนอื่น People Pleaser ไว้กว้างๆ ดังนี้
- ไม่เป็นตัวของตัวเอง ฝืนใจ แกล้งทำเพื่อคนอื่น
- ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการตอบว่า ‘ไม่!’ กับอะไรสักอย่างที่ไม่อยากทำ
- ไม่ค่อยกล้ายืนยันอะไรอย่างมั่นใจ หรือไม่ค่อยกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะ กลัวการถูกปฏิเสธ
- ทำเป็นเห็นด้วยกับคนอื่นบ่อยๆ (ทั้งที่บางทีในใจก็ไม่)
- ใช้คำขอโทษบ่อยเกินไป เพราะแบกรับเอาความรู้สึกคนอื่นมาไว้ในใจซะหมด
- ไม่ชอบการปะทะ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แม้ในเรื่องที่บางครั้งก็จำเป็น เพราะกลัวภาวะอารมณ์เสีย ทั้งตัวเองและคนอื่น
- เห็นใจคนอื่นมากกว่าตัวเอง จนช่วยเหลือเขาและเราก็มาเป็นทุกข์เอง
- ต้องมีคนชมถึงจะรู้สึกดี และจะนอยไปหลายวัน เวลามีคนมาวิจารณ์สิ่งที่ทำ
- เสพติดความเห็นด้วยจากคนอื่น และส่วนมากจะทำตามในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี
- ไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองเจ็บปวด โกรธ เศร้า หรือผิดหวัง เพราะกลัวทำให้คนอื่นรู้สึกแย่
ตามใจคนอื่น People–Pleaser เกิดจากอะไร
เกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาให้คน ๆ นั้นมีการเคารพนับถือตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) และต้องการการยอมรับจากผู้อื่นด้วยการทำตามใจจนล้ำเกินเส้นขอบเขตความสุขของตนเอง ซึ่งความคิดความเชื่อต่างๆจะฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ส่งผลให้การทำเรื่องง่ายสำหรับคนอื่น กลายเป็นเรื่องยากสำหรับ People-Pleaser อ่านเพิ่มเติม รู้จักจิตใต้สำนึกและเด็กน้อยในตัวคุณ >>
หลายๆครั้งคุณอาจเข้าใจไปได้ว่าคุณกำลังล้อมรอบไปด้วยคนไม่ดีจึงไม่มีความสุข แต่จริง ๆ แล้วการที่คุณไม่มีความสุขนั้น ตัวคุณเองเป็นคนทำร้ายตัวเอง (Self-Sabotage) ด้วยพฤติกรรมต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น
ผลเสียที่เกิดกับ People-Pleaser
- Depress & Stress สะสมจนเป็น “โรคซึมเศร้า” : เรากำลัง “สะสมความรู้สึกลบ” ให้กับตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว สามารถพัฒนากลายเป็น โรคซึมเศร้า ได้
ยิ่งทุกครั้งที่รู้สึกฝืนนั่นหมายถึงทุกครั้งที่ต้องเก็บกดความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงให้ดำดิ่งลงไป การฝืนกดดันตัวเองบ่อยๆ ทำให้เรากลายเป็นคนขี้หงุดหงิด คิดลบ โกรธง่ายนะคะ เพราะสุดท้ายความรู้สึกที่ไม่ดีมันต้องรั่วระบายออกมาทางใดทางหนึ่งอยู่ดี ลองไปสังเกตดูว่าถ้าช่วงไหนเรารู้สึกว่าไม่ปกติ ไม่เป็นตัวเองทำไมอะไร ๆ ก็หงุดหงิด น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ต้องฝืนใจทำอะไรบ่อย ๆ เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรดีเท่ากับการได้ยอมรับและหาวิธีจัดการความรู้สึกที่แท้ที่จริงแล้ว อ่านเพิ่มเติม วิธีจัดการความรู้สึก
- Lack of Respect : ขาดการรับการเคารพจากผู้อื่น (รวมถึงตัวเองด้วย)
อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดนเอาเปรียบใช้ให้ทำสิ่งต่าง ๆ ง่ายที่สุด และขาดการเคารพให้เกียรติเนื่องจากคนรอบตัวเคยชินกับสิ่งที่คุณทำ
- Low Self-Esteem : เสแสร้งแกล้งทำจนไม่เหลือความเป็นตัวเองส่งผลให้ความเคารพนับถือตัวเองลดลง
ก็เพราะเวลาที่เราพยายามเกินไปกับทุกเรื่องจนไม่เป็นตัวเอง ไม่ว่าจะทำท่ามีน้ำใจตลอดเวลา แกล้งเป็น แกล้งทำเพื่อคนอื่น สุดท้ายแล้วคนรอบตัวก็จะรู้สึกได้ว่านั่นไม่ใช่ตัวเรา เราฝืนจนมันปลอม และการใช้ชีวิตด้วยการแกล้งเป็นทุก ๆ วันก็ขาดความเคารพตนเอง และการขาดความเชื่อมั่น ส่งผลต่อความเคารพนับถือตัวเองให้ลดลงด้วย
- No Boundary : ไม่มีขอบเขตที่ดีของตัวเอง
คุณจะเหนื่อยมากเนื่องจากกำลังสละพลังงาน เวลา ความสุข และความเป็นตัวของคุณและกับความต้องการของผู้อื่นตลอดเวลา - False Boundary : ไม่เป็นตัวของตัวเอง
คนที่เป็นคน ตามใจคนอื่น People Pleaser จะให้ความสำคัญกับคนอื่นก่อนจึงได้เฉือนบางส่วนของตัวตนและชีวิตทิ้งไปเช่นกัน บทบาทที่เขาเล่นและนำเสนอในชีวิตจึงกลายมาเป็นตัวตนปลอม ๆ (False Self) เป็นหน้ากากที่สร้างขึ้นมา
เนื่องจาก People-Pleaser มักปฏิเสธความจริง (Denial) บทบาทเหล่านี้จึงทำหน้าที่เดียวกับกลไกป้องกันตัวเองทางจิต (Ego Defense) และบ่อยครั้งจะมีการจินตนาการหรือหลอกตัวเองและคนรอบตัวว่าชีวิตของเราปกติดี (Fantasy Bond) เช่น “บ้านของเราเป็นครอบครัวอันแสนอบอุ่น” หรือ “บ้านของเรารักกันมาก” (ทั้ง ๆ ที่ความจริงเหนื่อยและไม่มีความสุข) ซึ่งคนที่เป็น People-Pleaser มักจะมีหน้าเดียว ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชอบหรือไม่ชอบก็จะทำหน้าตามีความสุข - Codependency (Toxic) Relationship: มีความรักแบะสัมพันธ์ที่เป็นพิษแบบพึ่งพา หรือ “ยึดติดกันและกัน”
ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา หรือ ‘ยึดติดกันและกัน’ ซึงเป็นความสัมพันธ์ที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปี ค.ศ.1950 โดยใช้กับความสัมพัธ์ที่ฝ่ายหนึ่งมี Toxic shame เช่น ปมในวัยเด็ก หรืออีกฝ่ายหนึ่งมีลักษณะเป็นผู่ให้มากเกินไป จึงพยายามจะช่ายเหลือคนคนนั้น เช่น อาจจะช่วยปกปิดหรือคอยตามใจ ปล่อยให้เขามีพฤติกรรมดังกล่าวไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องของ ‘อำนาจ’ ที่ไม่เท่าเทียมกันซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ (Imbalance of power) จึงทำให้อีกฝ่ายถูกกดขี่ได้ทั้งทางกาย การกระทำและวาจา
“จริงๆ มันคือสัญญาณเตือนขนาดใหญ่ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังอยู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ และนั่นไม่ใช่ความรัก แต่เป็นการยึดติดและความรู้สึกสิ้นหวังต่างหาก” อ่านเพิ่มเติม Codependency Relationship ความรักและสัมพันธ์แบบพึ่งพาหรือ ‘ยึดติดกันและกัน’ โดนทำร้ายจิตใจแค่ไหนก็ยังเลือกที่จะอยู่ >>
แนวทางการพัฒนาเพื่อเลิกเป็น People-Pleaser
หากคุณค้นพบว่าคุณคือ People-Pleaser และเหนื่อยกับชีวิต และ อาจจะมีแนวโน้มที่ต้องเผชิญ “อาการซึมเศร้า” ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องปรับเปลี่ยนและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเอง โดยสิ่งที่ควรเริ่มต้นทำ คือการพูดว่า “ไม่” กับคนอื่น ๆ และพูดว่า “ใช่” กับตัวเราเอง
1. เริ่มจากรักตัวเองก่อน : เอาตัวเองและความรู้สึกตัวเองมาก่อนอันดับแรก
ทำสิ่งต่างๆที่ส่งเสริมการรักตัวเองเช่น ค้นหาคุณค่าในตัวเอง พูดชมตัวเอง (Positive Self-talk) เวลามีปัญหาอะไรก็กล้าพูดกับอีกฝ่ายตรงๆ เรื่องไหนไม่อยากทำให้ฝึกปฏิเสธ หากยังไม่กล้าพอให้ลองฝึกเว้นช่วงก่อนที่จะตอบกลับ เช่น ขอตอบวันพรุ่งนี้ ขอตอบอาทิตย์หน้า เมื่อเรารักตัวเองมากขึ้นเราก็จะเลิกอยู่ในความสัมพันธ์
2. กำหนดขอบเขตกับอีกฝ่าย : จัดการขอบเขตของตัวเองให้ดีด้วยการฝึกทักษะชีวิตต่างๆที่ช่วยเพิ่มการเคารพนับถือตนเอง และการสื่อสารอย่างมั่นใจ
เช่น ปฏิเสธให้เป็น, สื่อสารโน้มน้าว, Self-Love, Self-Esteem, การสื่อสารอย่างมั่นใจ (Affirmation) อ่านเพิ่มเติม สื่อสารอย่างมั่นใจ ให้ได้ใจ (Affirmative Communications) ปัญหาของ People-Pleaser คือจะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่รู้ว่าควรตอบสนองอีกฝ่ายแค่ไหนซึ่งทำให้เข้าใจเรื่องราวผิดเพี้ยนว่าต้นตอของปัญหาที่มักเจอคืออีกฝ่ายเป็นคนนิสัยไม่ดี พูดจาแย่ ชอบเอาเปรียบซึ่งแท้จริงแล้ว นิสัย People-Pleaser ของคุณเองกำลังทำร้ายตัวคุณเองอยู่ (Self-Sabotage)
3. พบนักบำบัด นักจิตวิทยา หรือโค้ช
อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่าการแก้นิสัย People Pleaser เป็นเรื่องยากสำหรับเรา อยากแนะนำให้ไปพบนักบำบัด หรือโค้ช หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจที่มาของนิสัยที่เป็นปัญหาและรับมือกับมันได้
คุณคือคนเดียวที่จะมอบความสุขให้กับตัวเองได้ด้วยการลุกขึ้นมาจัดการเปลี่ยนแปลงด้วยเอง เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ 🙂
บทความเขียนโดย เณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา
MindSpring Consulting
ท่านที่สนใจพัฒนาตนเองเพื่อออกจาก loop ความเหนื่อยล้าจากการเป็น people pleaser อย่างตรงจุด
สามารถดูโปรแกรมโค้ชและปรึกษาส่วนตัวได้ในลิงค์นี้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม Codependency Relationship ความรักและสัมพันธ์แบบพึ่งพาหรือ ‘ยึดติดกันและกัน’ โดนทำร้ายจิตใจแค่ไหนก็ยังเลือกที่จะอยู่ >>
รู้จักจิตใต้สำนึกและเด็กน้อยในตัวคุณ >>